มะม่วงหาวมะนาวโห่ (Karonda Fruit)
มะม่วงหาวมะนาวโห่ (Karonda Fruit)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carissa carandas L
ชื่อท้องถิ่น (ภาคกลาง) มะม่วงไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่ หนามแดง มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคเหนือ) หนามขี้แฮด (ภาคใต้) มะนาวโห่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งจำนวนมากทุกส่วนมียางสีขาวเหมือนน้ำนม กิ่งก้านมีหนามแหลม ปลายหนามมีสีแดง ยาวประมาณ 2 นิ้ว
ใบ : เดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบกลม ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก : ช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมชมพู ยาวประมาณ 4-8 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน ออกดอกทั้งปี
ผลและเมล็ด : เป็นผลเดี่ยวออกรวมกันเป็นช่อ ผลรูปกลมรี มนรี และรูปใข่ ขนาดผลประมาณ 1-1.5 ซม. ผลอ่อนมีสีขาวอมชมพู แล้วจะค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดง กระทั่งสุกจึงกลายเป็นสีดำ เนื้อผลจะกรอบแม้เมื่อสุกแล้ว ภายในตรงกลางผลจะมีเมล็ดแทรกรวมกันอยู่ 4-6 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างแบน มีเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล
การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หลังแยกเมล็ดออกจากผลแล้วควรเพาะเมล็ดทันที เพาะไว้ในโรงเรือนช่วงเดือนสิงหาคม และทำการย้ายลงปลูกเมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 ปี เป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศได้ดี เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เจริญเติบโตได้ดีในเขตดินทราย และในดินเกือบทุกชนิดตั้งแต่ดินเค็มไปจนถึงดินเปรี้ยว ต้องการมีการระบายน้ำที่ดี เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย ระยะการเก็บเกี่ยวผลของมะม่วงหาวมะนาวโห่ จะเริ่มแก่ตัวเมื่ออายุได้ 100-110 วัน หลังจากติดผล ผลจะเริ่มสุกหลังจากผลเริ่มแก่ รวมเวลาประมาณ 120 วันผลจะเริ่มนุ่มและเป็นเป็นสีม่วงเข้ม ควรเก็บไว้ในที่ร่ม สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องประมาณ 1 สัปดาห์ ผลวิจัยระบุว่าเก็บเกี่ยวผลสุกจะให้สารต้านอนุมูลอิสระได้สูงที่สุด
สรรพคุณทางยา มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นพืชที่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ไบโอฟลาวานอยด์ สารแอนไทไซยานิน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และหากนำผลดิบมาใช้จะทำให้การทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระดีขึ้นกว่าเดิม ป้องกันมะเร็ง รักษาโรคปอด และถุงลมโป่งพอง แก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร ต้านอาการชักและโรคลมชัก ต้านโรคเบาหวาน (สารสกัดจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ทีมีความเข้มข้น 400 มก./กก. สามารถลดน้ำตาลในเลือดลงได้ถึง 48-64.5% ตามลำดับเทียบกับยาต้านเบาหวานในปัจจุบัน) ปกป้องความเป็นพิษต่อตับ ฯลฯ
--------------------- โฆษณา ---------------------
– ราก ขับพยาธิ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย
– ใบ แก้ท้องร่วงท้องเดิน แก้เจ็บคอ แก้ไข้ หยอดหูแก้ปวดหัว
– เปลือก แก้บิด ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องเสีย แก้กามโรค ทำยาอมรักษาแผลในปาก แก้ปวดฟัน พอกดับพิษ – ยาง แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาหูด ขี้กลาก แผลเนื้องอก โรคเท้าช้าง ใช้ทำลายตาปลา กัดทำลายเนื้อที่ด้านเป็นปุ่มโต ยางของลำต้นแก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาหูด รักษาขี้กลาก แผลเนื้องอก และโรคเท้าช้าง
– ยอดอ่อน รักษาโรคริดสีดวงทวาร
– ผลสุก ฆ่าเชื้อ ขับปัสสาวะ พอกดับพิษ แก้โรคลักปิดลักเปิด
– เมล็ด แก้กลากเกลื้อน แก้เนื้อหนังชาในโรคเรื้อน แก้โรคผิวหนัง แก้ตาปลา แก้เนื้องอก บำรุงไขข้อ บำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนัง
– น้ำมัน ใช้ฆ่าเชื้อ ทาถูนวดให้ร้อนแดง ยาชา รักษาโรคเรื้อน กัดหูด แก้ตาปลา แก้บาดแผลเน่าเปื่อย
การนำไปใช้ จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง มี 3 รส คือ เปรี้ยว ฝาด หวาน ผลสุกจะมีรสหวานนุ่มลิ้น แต่ถ้ายังไม่สุกมีรสเปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟัน มีธาตุเหล็ก และวิตามินซีสูงมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะมียางเหนียวๆ ฝาดคอ สำหรับวิธีกินก็นำมาล้างให้สะอาดแล้วรับประทานสดได้เลย
การแปรรูป นอกจาก ผลที่รับประทานสด ผลที่สุกแล้วสามารถนำมาทำเป็นน้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ และนำไปทำเป็นแยม น้ำหมักนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เช่น สบู่ แชมพู และโลชั่น (วิตามินสูงทำให้ผิวชุ่มชื่นและลดอาการคันศรีษะได้)
ข้อควรระวัง
คนเป็นโรคหัวใจโตไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะเมื่อรับประทานผลเข้าไปแล้วประมาณ 10 นาที จะทำให้แน่นหน้าอก ควรรับประทานวันละ 1 ผล เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพจนชินก่อน เมื่อไม่มีอาการค่อยเพิ่มปริมาณเป็น 10 ผล รับประทานประมาณ 3 เดือน จะทำให้เลือดไหลเวียนดี และ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทานเด็ดขาด
นอกจากคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนที่ปลูกไม้ประดับ เพราะผลและดอกที่สวยงาม เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นแค่ไม้ประดับแต่ยังมีคุณสมบัติสรรพคุณทางยาสูง เพราะมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณหลากหลายช่วยซ่อมแซมร่างกายและช่วยรักษาโรคได้แทบทุกชนิด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้หันมาใช้สมุนไพรจากธรรมชาติบำบัดและบำรุงร่างกายอย่างดีทีเดียว เห็นแบบนี้ต้องรีบหามาปลูกได้แล้ว ผู้รักสุขภาพไม่ควรพลาดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก www. Honestdocs.com , www. liekr.com,มูลนิธิหมอชาวบ้าน
เรียบเรียงข้อมูลโดย www.herbaltreatmentguru.com